มาฝึกให้เด็กรู้จัก ปฏิเสธ กันเถอะ
...ในสังคมทุกวันนี้ ปัญหาการใช้สารเสพติดในเด็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ทั้งหลายห่วงใยลูกหลานในปกครองกันมาก แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายปราบปรามปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อให้ยาเสพติดหมดไปจาก สังคมภายในปี 2546 ก็ตาม แต่เราก็ทราบกันอยู่แก่ใจว่า ยังมี“สารเสพติดถูกกฎหมาย” อีกหลายอย่างที่ยากจะถูกปราบให้หมดไปจากสังคม ...


เรารู้กันดีว่าเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กของเรา “มีโอกาส” ที่จะได้รับการเสนอให้ลองบุหรี่ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่ยาเสพติดจากเพื่อนหรือคนที่เขารู้จัก ซึ่งพ่อแม่อาจไม่มีโอกาสที่จะรู้จักด้วย ก่อนอื่นลองมาดูเหตุผลยอดนิยมที่มักทำให้เด็ก “อยาก”ใช้สุราและยาเสพติดกันสักหน่อย

 เพื่อให้รู้สึกว่า “ฉันโตแล้ว”
 เพื่อให้เข้ากลุ่มได้ “เป็นพวกเดียวกัน”
 เพื่อให้ผ่อนคลายและ “รู้สึกดี”
 เพื่อความรู้สึก “ท้าทาย อยากต่อต้าน”
 เพื่อสนอง “ความอยากรู้อยากลอง”

จะเห็นได้ว่าเหตุผลเหล่านี้วนเวียนอยู่กับความสำคัญของกลุ่มเพื่อนที่มีต่อ เด็กและมีเด็กจำนวนมากที่ “ปฏิเสธไม่เป็น” เมื่อเป็นดังนี้แล้ว พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลูก “ต้านทาน”แรงกดดันของกลุ่มเพื่อน และช่วยหาหนทางที่จะใช้ “การปฏิเสธ” ให้ได้ผล ด้วยการ “ฝึกปฏิบัติการปฏิเสธ” เพื่อให้เด็กแต่ละคนมีวิธีพูดว่า “ไม่” ในแบบฉบับของตนเอง อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เขาจำเป็นต้องรู้สึก “สบายใจ”ที่จะใช้คำพูด หรือการกระทำใดๆที่แสดงถึงการปฏิเสธการใช้ บุหรี่ สุรา หรือยาเสพติด เด็กที่มีพื้นนิสัยขี้อาย ไม่ค่อยกล้า ย่อมจะตอบสนองแตกต่างจากเด็กซึ่งมีลักษณะมั่นใจตนเอง กล้าแสดงออก และเด็กเล็กก็ย่อมมีวิธีที่จะบอกว่า “ไม่” แตกต่างไปจากเด็กโต

หน้าที่ของพ่อแม่ในเรื่องนี้จึงอยู่ที่การ “ฝึกสอน” หรือ “เป็นโค้ช” ให้กับเด็กๆ วิธีหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติก็คือ การนำเสนอสถานการณ์สมมติที่หลากหลาย (และมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น!!) ให้เด็กทดลองโต้ตอบด้วยการกระทำและคำพูดของตนเอง เป้าหมายของวิธีการนี้อยู่ที่การ “ลองฝึกล่วงหน้า” เพื่อที่ว่าเมื่อเด็กเจอเข้ากับ “ชีวิตจริง”แล้วเด็กๆจะได้พร้อมที่จะปฏิเสธได้อย่างทันท่วงที และพึงจำไว้ว่า เรื่องนี้มิใช่เรื่องที่จะทำเพียงหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องที่นำมาคุยและฝึกกันบ่อยๆเมื่อมีโอกาสในชีวิตประจำวัน
พ่อแม่อาจเลือกสถานการณ์สมมติขึ้นมาจากเหตุการณ์ ข่าว หรือ เรื่องต่างๆที่เด็กนำมาเล่าจากชีวิตประจำวัน และเพื่อทำให้สถานการณ์นั้นดูจริงจังขึ้น คุณก็อาจจะดัดแปลงเรื่อง โดยใช้ผู้คนและสถานที่ที่เด็กรู้จักมาผูกเป็นสถานการณ์ปัญหาที่จะคุยกัน

ตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น 

 ถ้าลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้ากับเพื่อนๆ และเกิดมีหนึ่งในกลุ่มชวนคนอื่นๆให้ “แอบหยิบ”ซีดีสักแผ่นในร้านเพลง เพราะกำลังได้โอกาสเหมาะ ลูกจะพูด หรือทำอย่างไร ?

 ถ้าลูกไปเที่ยวบ้านลุง-ป้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ และขณะที่อยู่ในสวนหลังบ้านที่ลับตา พี่ชายวัย 18 ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุด และเสนอให้ลูกลองด้วย ลูกจะพูดและทำอย่างไร ?

 หลังโรงเรียนเลิก เพื่อนชวนไปเที่ยวบ้าน เพื่อนคนหนึ่งมี “ของบางอย่าง” ซึ่งดูคล้ายกัญชามาให้ลองกัน ลูกจะพูดและทำอย่างไร ?

 ที่ค่ายพักแรม เพื่อนคนหนึ่งแอบเอาเบียร์ใส่กระเป๋ามาด้วยหลายกระป๋อง และ
เสนอว่าดื่มแล้วจะช่วยให้รู้สึกหลับสบายขึ้น ลูกจะพูดและทำอย่างไร ?

ชวนลูกลองฝึกให้ตอบกันเถอะ 

ให้ลูกลองคิดว่าเขาจะตอบเพื่อน หรือทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆข้างต้น และถ้าหากคำตอบของลูกแสดงถึงความลำบากใจแล้วล่ะก็ คุณอาจเสนอคำตอบ หรือ ทางเลือกที่ลูกอาจทำได้ ตัวอย่างเช่น

 ตอบเพื่อนว่า “ไม่” โดยไม่ต้องโต้แย้ง ไม่ต้องอธิบาย ตอบเพียง “ไม่” และแสดงท่าทีอย่างจริงจังว่า ลูกของคุณหมายความตามนั้น

 ให้เหตุผล เช่น “ไม่ล่ะ ฉันสัญญากับแม่ไว้แล้ว” หรือ “ไม่ล่ะ โค้ชฟุตบอลบอกไว้แล้วว่าห้ามเด็ดขาด และฉันก็ไม่อยากผิดสัญญา”

เสนอทางเลือกอย่างอื่นที่เหมาะสมให้เพื่อน เช่น “ไม่ล่ะ เล่นเกมส์กันสนุกกว่า”

ขอแยกตัว เมื่อทางเลือกอย่างอื่นได้ลองแล้วแต่ไม่เป็นผล ก็จำเป็นที่จะถึงเวลา ขอปลีกตัวเองจากสถานการณ์นั้น เช่น “ไม่ล่ะ กลับบ้านดีกว่า”  ฯลฯ

อาจมีทางเลือกอื่นๆอีกมากที่คุณจะช่วยให้ลูกเห็นว่า เขาจะพูด หรือทำอย่างไร จึงจะ “ปฏิเสธ”ได้ และเขามีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น เพราะสถานการณ์เหล่านั้นเขาสมควรที่จะหลีกเลี่ยงด้วยการปฏิเสธ

ข้อสำคัญ พ่อแม่พึงสนใจความรู้สึกของลูกด้วยว่า เมื่อต้องปฏิเสธแล้ว เขารู้สึกอย่างไร ลำบากใจหรือไม่ อะไรที่อาจทำให้เขารู้สึกเช่นนั้น เพื่อช่วยลูกให้ก้าวข้ามความรู้สึกที่รบกวนใจนั้นได้  แล้วทีนี้ ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน หรือต้องเผชิญกับสถานการณ์อะไรในชีวิตจริงคุณก็มั่นใจได้ว่า ลูกของคุณรู้จัก “ปฏิเสธของที่ต้องห้าม” ได้แล้วด้วยตัวของเขาเอง

ในเกมส์กีฬา “โค้ช” มีหน้าที่ฝึกสอนให้นักกีฬามีเทคนิคที่จะใช้ได้ผลเมื่อต้องลงสนามเจอคู่ ต่อสู้จริง แต่ในเกมส์ชีวิต ก็เห็นจะมีแต่พ่อแม่นี่แหละ ที่จะต้องเป็น “โค้ช” เพื่อให้ลูกมีเทคนิคในการลงแข่งในสนามชีวิต ซึ่งบ่อยครั้งที่คู่ต่อสู้มาในร่างของ “มิตร”

 

โดย : สุวัฒนา ศรีพื้นผล : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

ขอขอบคุณ : http://www.icamtalk.com

STEM แนวทางการศึกษาสำหรับเด็กในวันนี้

รู้จักกับแนวทางการศึกษาที่ผนวกความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์ และ การพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกยุคใหม่ click! ที่นี่

คัดลายมือแบบกำหนดเอง ไทย-อังกฤษ

ลีลามือ คัดลายมือแบบกำหนดเองคัดลายมือแบบกำหนดเอง รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กำหนดเป็นชื่อเด็ก ชื่อคุณพ่อคุณแม่ เพิ่มความน่าสนใจให้เด็ก ๆ ฝึกฝนการเขียนได้อย่างสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาทักษะการเขียนและการจับดินสอให้ถูกต้อง

แนะนำ สิ่งที่น่าสนใจ

เกมคิดราคาอาหารร้าน fast foodมาฝึกบวกเลขไปกับเกมสนุก ๆ ในร้านฟาสต์ฟู้ด! กับการคิดราคาชุดอาหารสุดอร่อย พร้อมเสริมทักษะคณิตศาสตร์ไปในตัว เด็ก ๆ จะสนุกกับการคำนวณและรู้สึกเหมือนเป็นมือโปร! click! ที่นี่