จั่วหัวเรียกแขกซะอลังการเลย (^_^) บทความนี้ขอเล่าประสบการณ์ของกานต์ในเรื่องการสอบวิชาวิทยาศาสตร์สนาม สสวท. ซึ่งกานต์เริ่มสอบครั้งแรกตอนอยู่ชั้น ป.2 ค่ะ อยากแนะนำให้เด็กๆได้ทดลองสอบดูนะคะ ถึงแม้ไม่ได้ผ่านเข้ารอบ 2 หรือ ผ่านรอบ 3 ไปชิงเหรียญรางวัล แต่ก็จะมีประสบการณ์เห็นโจทย์คำถามที่แปลกใหม่ ซับซ้อน และได้ฝึกหัดการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาโจทย์ค่ะ อย่าคิดว่าเราต้องลงสนามแข่งกับพี่ ป.3, ป.6 ดังนั้นรอให้ถึงระดับชั้นนั้นก่อนดีกว่าจะได้ไม่เสียเปรียบลองสอบไปเลยค่ะ เพื่อให้ชินสนามชินข้อสอบไว้ก่อน :okx

แต่ถ้าผ่านเข้ารอบไปได้ทาง สสวท. ก็มีการจัดค่ายให้เด็กๆได้ไปทำกิจกรรมและพัฒนาทักษะวิชาการอีกด้วย ค่ายมาตรฐานเลยก็จะเป็นค่ายสำหรับผู้ที่ได้เหรียญทอง เงิน ทองแดง จำนวน 100 คน เป็นค่ายค้างคืน 3 วัน 2 คืน (ค่ายเลขกับวิทย์ แยกกันนะคะ) บางปีมีพิเศษจัดค่าย 1 วันให้เด็กที่ผ่านเข้ารอบสอง จำนวน 1,000 คนด้วย

สนามรบทางวิชาการระดับประเทศของรุ่นเล็กเด็กประถมอย่างเรา ที่ได้รับความนิยมเชื่อถือมีใบประกาศที่เอาไปต่อยอดกิจกรรมทางวิชาการได้ มี 2 สนาม คือ สสวท. และ สพฐ. ซึ่งมีจุดมุ่งหมายต่างกัน สพฐ.จะคัดเด็กเก่งระดับเทพเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ส่วน สสวท.จะค้นหาคัดเลือกเด็กที่มีแววอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์มาพัฒนา

บทความนี้ถ่ายทอดจากความทรงจำและเปิดข้อมูลเก่า หากเพื่อสมาชิกมีข้อมูลใหม่ๆ ขอเชิญร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยกันนะคะ laughing

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย ผอ.สาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ สสวท. กล่าวในงานหนังสือแห่งชาติไว้ว่า “โครงการฯมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกเด็กที่มีแววหรือพรสวรรค์ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อคัดเลือกเด็กตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงเท่านั้น หากเด็กที่มีความสนใจและความถนัดทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ย่อมสามารถสอบผ่านเข้าโครงการฯ ได้ตามศักยภาพที่เด็กมีอยู่โดยไม่ต้องเรียนพิเศษ ดังนั้นผู้ปกครองควรส่งเสริมให้บุตรหลานได้ใช้ชีวิตตามปกติอย่างมีความสุข และไม่บังคับให้ไปเรียนพิเศษ”

ฟังอย่างนี้แล้วก็มีกำลังใจขึ้นเยอะเลยจริงไหมคะ สู้ๆ laughing

โครงการฯจัดสอบแข่งขันใน 2 วิชา คือคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งการสอบเป็น 2 ระดับ ประถมต้นและประถมปลาย
โดยใช้ข้อสอบเดียวกัน ดังนี้
1. วิชาคณิตศาสตร์ ระดับ ป.3 ( นักเรียนป.1-3 มีสิทธิสมัครสอบ )
2. วิชาคณิตศาสตร์ ระดับ ป.6 ( นักเรียนป.4-6 มีสิทธิสมัครสอบ )
3. วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับ ป.3 ( นักเรียนป.1-3 มีสิทธิสมัครสอบ )
4. วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับ ป.6 ( นักเรียนป.4-6 มีสิทธิสมัครสอบ )
จากผู้สมัครสอบทั้งหมดทั่วประเทศ จะคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบโดยเรียงตามคะแนนสอบจากสูงสุดลงมาถึงลำดับที่กำหนด คือ คัดเข้ารอบแรก 1,000 คน/วิชา คัดเข้ารอบสอง 100 คน/วิชา ซึ่งทั้ง 2 รอบแต่อาจจะมีจำนวนเกินบ้างถ้าคะแนนสุดท้ายเท่ากันค่ะ

คณิตศาสตร์สอบทั้งหมด 2 รอบก็รู้ผลเหรียญแล้ว แต่สำหรับวิทยาศาสตร์โหดหน่อยเด็กๆจะต้องสอบทั้งหมด 3 รอบ โดยรอบที่ 3 เป็นการสอบปฏิบัติ มีทำการทดลอง ที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ค่ะก็จะดูทักษะทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กๆและคำตอบประกอบกันค่ะ

วิธีสมัครสอบ สสวท. 
โครงการนี้จะเปิดรับสมัครประมาณเดือนสิงหาคม เราต้องคอยเข้าไปเช็คในเว็บ สสวท. ตาม link ด้านบนค่ะ บางโรงเรียนก็จะมีการแจ้งข่าวการสอบและช่วยสมัครให้ด้วย ค่าสมัครสอบวิชาละ 100 บาท สามารถสมัครทั้ง 2 วิชาได้ เพราะสอบวันเดียวกันแต่เวลาไม่ตรงกัน เลขสอบตอนเช้า วิทย์สอบตอนบ่าย โครงการนี้ดีตรงที่เราสามารถเข้าไปสมัครสอบให้ลูกได้เองเลย ไม่ต้องรอให้โรงเรียนคัดเลือกเฉพาะบางคนเป็นตัวแทนโรงเรียนไปสอบ เด็กทุกคนจึงมีโอกาสได้ลองสอบค่ะ


วิธีการสมัครสอบ
1. เข้าไปที่หน้าสมัครสอบ เว็บ การสมัครสอบโครงการอัจฉริยภาพวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 

ถ้าสมัครปีแรกต้องเลือกเมนูลงทะเบียนก่อน โดยใช้เลขบัตรประชาชนนะคะ แล้วเราจะได้รหัสผู้ใช้ และรหัสผ่านมา ซึ่งอันนี้จะใช้ได้ตลอดไปทุกปี ใช้ทั้งสมัคร, พิมพ์ใบสมัคร, เลือกสถานที่สอบ, พิมพ์ใบชำระเงินตลอดจนดูประกาศผลสอบเลย **ระวังอย่าสมัครผิดระดับชั้นนะคะ อดสอบเลย!!

2. พิมพ์แบบฟอร์มชำระเงิน นำไปชำระที่ ธ.กรุงไทย (เสียค่าธรรมเนียม 10 บ.นะ) หลังจากนั้น 2 วันจึงจะสามารถเข้าไปเลือกสถานที่สอบ รร.ที่เราสะดวกได้ แต่ละโรงเรียนมีจำนวนที่นั่งระบุไว้ช้าอาจจะเต็มได้!! หากไม่เข้าไปเลือกสถานที่สอบทางสสวท.จะเลือกให้อัตโนมัติ

เอาหน้านี้มาให้ดู เพราะอ้อยเคยหาเมนูพิมพ์แบบชำระเงิน พิมพ์บัตรสอบไม่เจอ งมอยู่นาน ที่แท้ซ่อนอยู่ใน "ข้อมูลผู้สมัคร" จ้า

การเตรียมตัวสอบสสวท.รอบแรก

ตื่นเต้น..นี่เป็นการลงสนามสอบระดับประเทศครั้งแรกของเด็กน้อย กำหนดการสอบจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีเวลาเตรียมตัวประมาณ 4 เดือนนับจากวันสมัคร กานต์ไม่ได้ไปลงคอร์สติวเรียนพิเศษเพื่อสอบ สสวท. หรอกค่ะ (ถ้าใครต้องการจะติวตอนนี้มีเยอะมากหาไม่ยากค่ะ ทั้งติวรอบสอบ ติวรอบการทดลอง) ตอนสอบครั้งแรกเตรียมตัวโดยอ่านหนังสือเรียนของตัวเองและซื้อพวกหนังสือ เรียนวิทยาศาสตร์ ป.3 จากศึกษาภัณฑ์มาอ่านเพิ่มเพราะเรายังเรียนไม่ถึง ประกอบกับเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วโดยเฉพาะการ์ตูนวิทยาศาสตร์นี่อ่านลืมกินข้าวเลย ก็มีอยู่หลายเล่ม หลายค่าย ไปอาศัยอ่านฟรีที่ร้านse-ed บ้างไรบ้าง พวกนิตยสารวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก อย่าง อพวช. หรือ Go Genius ก็ช่วยได้นะคะ พอความรู้มาในรูปแบบของการ์ตูนเด็กเขาอาจจะจำได้ดีขึ้น นอกจากนั้นเราก็ทำการทดลอง ง่ายๆเองที่บ้านตามบทเรียนบ้างเพื่อเสริมความเข้าใจ สรุปคือตอนแรก ทำ 3 อย่างค่ะ

1) ซื้อหนังสือแบบเรียนวิทยาศาสตร์ของ ป.3 มาอ่าน และทำการทดลองตามนั้น อุกปรณ์บางอย่างหาได้ง่ายที่บ้าน บางอย่างซื้อได้จากศึกษาภัณฑ์ค่ะ และเล่นทำการทดลองตามหนังสือเสริม 2 เล่มนี้บ้าง ให้ลูกเลือกว่าเขาสนใจการทดลองไหน

2) อ่านการ์ตูนวิทยาศาสตร์ ทั้งสารานุกรมวิทยาศาสตร์ชุด Why? ของนานมีบุ๊คส์ ข้อ2นี้อ่านสะสมเป็นทุนเดิมมานานแล้ว เลยไม่ต้องมาฟิตช่วง 4 เดือนนี้

และหนังสือ ชุดอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ ของซีเอ็ด หนังสือพวกนี้แปลมาจากเกาหลีก็จริง แต่ค่ายซีเอ็ด จะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบเนื้อหาวิชาการให้ถูกต้องค่ะ

3) ครูที่โรงเรียนจัดติวให้ตอนเช้าก่อนเข้าแถว วันละ 45 นาที ประมาณ 4 ครั้ง

ไปสอบกัน

ตอนสอบครั้งแรกโรงเรียนสมัครให้จึงเลือกศูนย์สอบที่ใก้ลรร.สาธิตเกษตร ก็คือเด็กทุกคนไปสอบที่ รร.บางบัว วันสอบก็ไปแท็กซี่ค่ะ เพื่อไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถ (ซึ่งไม่มีเลย ไม่ให้รถเข้าไปในโรงเรียนดีที่ตัดสินใจถูก มารู้ตอนหลังว่าสามารถไปจอดที่อาคารจอดรถ ม.ศรีปทุมได้ แล้วก็เดินข้ามสะพานลอยมา ok ปีหน้าจะใช้วิธีนี้นะ ^^ ) แม่นี่หอบฟางเลย ทั้งของกินของเล่นค่าเวลาตอนรอลูก ที่สนามสอบพลุกพล่านเจอเพื่อนๆหลายคน เดินไปดูแผนผังห้องสอบแล้ว ก็รอเวลาขึ้นสอบนัดหมายจุดนัดพบกับลูก ตรวจอุปกรณ์ อย่าลืมบัตรสอบ, บัตรประชาชนหรือบัตรนักเรียน, ดินสอ 2B ยางลบ ปากกา ปล. เขียนชื่อ-เลขที่ ที่หัวกระดาษคำตอบด้วยปากกา และเลือกคำตอบโดยการฝนด้วยดินสอ ถ้ามีกล่องดินสอเลือกแบบถุงหรือกล่องใสๆดีกว่าค่ะ เผื่อบางสนามสอบกรรมการเข้มงวดลูกจะได้ไม่ทุลักทุเลหน้าห้อง เราไปสอบที่รร.บางบัวอยู่ 2 ปี พอป.4 ก็เลยสมัครเอง เลือกสอบรร.ใก้ลบ้านดีกว่า ย้ายมาสอบรร.บ้านบางกะปิ


เคยเจอเหตุการฉุกละหุก (ของคนอื่น) ที่นั่งรออยู่ใก้ลๆกันขอเอามาเล่าสู่กันฟังเพื่อป้องกันความผิดพลาดกรณีแบบนี้ คือพอส่งลูกขึ้นห้องแล้ว สักพักลูกเขาก็วิ่งลงมา บอกว่า “ครูบอกว่าต้องมีบัตรสอบด้วยหรือใบเสร็จก็ได้” ปรากฏว่าแม่ไม่ได้ print อะไรมาเลย เขาก็ไปติดต่อครูที่จุดอำนวยการคงจะสามารถเข้าระบบไป print ให้ได้ค่ะ

การสอบให้เวลา 2 ชั่วโมง มีเด็กๆลงมาก่อนเวลาหลายคน ลูกเราลงมาใก้ลหมดเวลา บอกว่าทำได้ สอบรอบแรกนี้ข้อสอบเป็นแบบปรนัย คือมีตัวเลือกทั้งหมด (ก็เด็กสมัครสอบเป็นแสน ถ้าตรวจแบบอัตนัยแย่แน่ๆ) สอบรอบแรกเด็กจะได้โจทย์กลับบ้านด้วยนะคะ

แนวข้อสอบมีครบรสทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ และเรื่องสิ่งแวดล้อม (หากปีนั้นมีเหตุการเด่นๆ เช่น พายุนกเตน เคยออกสอบ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์โดยดูจากโจทย์, รูป , แผนผัง, การทดลอง, บทความที่ข้อสอบกำหนดมาให้แทบทั้งสิ้น ไม่มีการจำมาตอบ ดังนั้นเด็กต้องฝึกวิเคราะห์ การจะวิเคราะห์ได้ก็ต้องเข้าใจทฤษฎีหรือหลักการค่ะ เพราะถ้าไม่เข้าใจแต่ใช้วิธีทำข้อสอบเยอะๆแล้วจำคำตอบมา พอเจอข้อสอบพลิกแพลงก็คงมึนตึ๊บ

ขอเอาข้อสอบเก่า แบบที่ในโจทย์ไม่มีรูป บทความ ฯลฯ อะไรมาให้วิเคราะห์ แต่ก็ยังต้องวิเคราะห์เองจากความรู้เดิม มาให้ดูค่ะ

โจทย์ : เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในข้อใด มีหลักการทำงานโดยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล
1) ตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลม
2) พัดลม เครื่องซักผ้า สว่านไฟฟ้า
3) โทรศัพท์มือถือ วิทยุ เตารีด
4) เครื่องปั่นน้ำผลไม้ โคมไฟ เครื่องดูดฝุ่น

ดูข้อสอบเก่า สสวท.ได้ที่ไหนบ้าง?
สสวท. มีตัวอย่างข้อสอบย้อนหลังปีต่างไว้ที่หน้านี้ค่ะ ...แต่ไม่มีเฉลย ตัวอย่างข้อสอบ สสวท. 

ถ้าอยากได้แบบมีเฉลยขอแนะนำ 2 เล่มนี้ค่ะ ของสำนักพิมพ์ THE BOOKS โดยคุณวิภาวี พัฒนะวาณิช อ้อยหามาติวน้องกานต์ในปีหลังๆ เป็นหนังสือเฉลยข้อสอบเก่า ที่มีการเฉลยได้อย่างละเอียดมากๆ อ่านคำอธิบายในเฉลยของปีเก่า ก็กลับมาเป็นโจทย์ในปีปัจจุบันมาแล้วหลายข้อ (มีแต่ข้อสอบรอบแรกเท่านั้นนะคะ ข้อสอบรอบ 2 ไม่เคยหลุดออกมา)

 

ประกาศผลรอบแรก

คิดว่าคงไม่ได้แต่ก็แอบหวัง พอประกาศผลรอบแรก ปรากฏว่าได้ผ่านเข้ารอบสอง ตอนนั้นดีใจสุดๆเพราะเกินความคาดหมายจริงๆ ไม่อยากจะเชื่อ อ่านประกาศซ้ำหลายรอบ คือปีแรกไม่รู้เรื่องเลยรอดูประกาศจากโรงเรียนอย่างเดียว (ปีต่อๆมารู้แนวสมัครเอง ดูผลเอง เร็วกว่าค่ะ)ปีนั้น ป.2 เข้ารอบ 4-5 คนจำไม่ได้ซะละ

เตรียมตัวสอบสสวท.รอบ 2 

การสอบสสวท.รอบสอง สถานที่สอบสำหรับเด็กในเขตกรุงเทพฯ ทุกคนจะต้องไปสอบที่โรงเรียนดาราคาม ด้านหลังท้องฟ้าจำลอง-เอกมัย เด็กที่อยู่จังหวัดอื่นๆ สสวท.จะประกาศศูนย์สอบว่าต้องไปสอบที่ไหน คราวนี้เลือกเองไม่ได้แล้วค่ะ โรงเรียนดาราคาม สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ค่ะ ลงสถานีเอกมัย แล้วเดินมาไม่ไกลเท่าไร บริเวณสนามสอบมีที่จอดรถพอสมควร ประมาณ 80 คัน ฟังแล้วเหมือนเยอะ แต่ไม่นะคะ เพราะทั้งเลข/วิทย์ มาสอบที่นี่วันเดียวกัน เลขสอบเช้า-วิทย์สอบบ่าย รถเจ้าหน้าที่อีก ต้องกะเวลาให้ดี เราไปสอบบ่ายเลยรอให้คนสอบเลขช่วงกลับแล้วเราเข้าจอดแทนก็หาที่จอดได้นะคะ 
โซนจอดแบ่งเป็น 3 ที่
1. จอดขนานขอบทางซ้าย/ขวา บริเวณซอยข้างท้องฟ้าจำลอง
2. ที่จอดรถหน้าสระว่ายน้ำของท้องฟ้าจำลอง เข้าซอยมาแล้วอยู่ทางขวา
3. ที่จอดรถของ สสวท. จุดนี้จะใก้ลรร.ที่สุดค่ะ เข้าซอยมาเลี้ยวซ้ายหลังท้องฟ้าจำลอง

ข้อสอบในรอบสองนี่โหดจริงไรจริงครับพี่น้อง เป็นอัตนัยล้วนๆ!! ให้เด็กๆฝึกเขียนบรรยายวิธีการทดลองมาเลยจ้า ทั้งวิเคราะห์ผลการทดลอง ที่น่าจะเกิดจากตัวแปรที่โจทย์ให้มา, วิเคราะห์ตัวแปรต้น, ตัวแปรตาม มีให้ออกแบบการทดลองเองด้วยนะ

ที่กานต์จำได้ เช่น กระป๋องใบหนึ่งใส่น้ำไว้เต็ม หากเจาะรูที่ตำแหน่งต่างๆบนกระป๋องตามที่กำหนด (มีรูปกระป๋อง) น้ำพุ่งอย่างไรบ้าง ตำแหน่งไหนน้ำพุ่งไกลที่สุด

รอบนี้ใช้ปากกาเขียนตอบเลยค่ะ ไม่ใช้ 2B แล้ว แต่ถ้าใครจะพกดินสอไปใช้วาดรูปการทดลองก็ได้ เผื่อวาดๆ ลบๆ จะได้ไม่สกปรก ประกาศผลการสอบรอบสอง เดือนธันวาคม เข้าไปดูคะแนนสอบของตัวเองได้ หลังจากวันประกาศผลแล้ว 90 วันนะคะ โดยใช้รหัสที่สมัครนั่นเอง

ระหว่างรอลูกสอบเข้าไปเดินเล่น ทานอาหาร ที่ท้องฟ้าจำลองได้เลยค่ะ รั้วติดกัน บางท่านก็เดินข้ามถนนไปห้างเมเจอร์เลย ปรากฏว่าผ่านรอบสองมาได้ ก็ต้องไปชิงเหรียญในรอบสอบภาคปฏิบัติต่อ เย้ เย้ laughing

เตรียมตัวสอบสสวท. ภาคปฏิบัติ รอบ 3 

สำหรับรอบนี้เป็นการสอบภาคปฏิบัติ เด็กทุกคนต้องมาสอบที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ใส่ชุดนักเรียนนะคะ การเตรียมตัวรอบนี้บอกเลยว่าใครชอบดูรายการวิทยาศาสตร์โชว์มีความได้เปรียบค่ะ กานต์ใช้วิธีดูรายการวิทยาศาสตร์บ่อยๆค่ะ บางรายการนี่ดูประจำทั้งครอบครัว อย่างรายการ Mega Clever ฉลาดสุดสุด ชอบมาก แต่รายการที่แนะนำคือ รายการ iSci และ รายการคู่หูทดลองวิทย์ แอบบอกว่า..เคยมีโจทย์ออกตรงเป๊ะๆมาแล้ว โจทย์การทดลองนั่นคือ...แท่น แทน แท้น!! 
1. มีถาดใส่น้ำ ดินน้ำมัน ลูกปืนเหล็กกลมเล็กหลายลูก จงสร้างเรือที่บรรทุกลูกเหล็กได้มากที่สุด
2. มีแก้วน้ำ คลิปหนีบกระดาษหลายตัว จงทำให้คลิปลอยน้ำ
รายการเหล่านี้สามารถดูย้อนหลังได้ทาง you tube นะคะ

ไปสอบรอบ 3 ภาคปฏิบัติ

เมื่อไปถึงคณะวิทยาศาสตร์ เด็กๆที่ลงทะเบียนแล้ว จะตั้งแถวรอพี่นิสิตพาขึ้นไปรวมกันที่ห้องประชุม มีอาหารว่างให้ทานเล็กน้อย การสอบคล้ายแลปกริ๊ง คือเด็กจะเปลี่ยนฐานไปเรื่อยๆมีกรรมการให้คะแนนประจำอยู่ทุกฐาน แต่ละฐานมีคอกกั้น ทำให้มองไม่เห็นคนอื่นขณะทำการทดลองค่ะ ข้อสอบมีทั้งโจทย์ข้อย่อยและโจทย์ข้อใหญ่ที่การทดลองเดียวมีหลายคำถาม เมื่อหมดเวลาในแต่ละฐานจะมีเสียงเป่านกหวีด!! มีการพักกินข้าวกลางวันด้วย เด็กๆจะไม่ได้กลับลงมาจนกว่าจะสอบเสร็จนะคะ

ปล. ใครไม่สะดวกที่จะเดินทางเข้าสอบรอบนี้จะได้รับเหรียญทองแดงโดยอัตโนมัติค่ะ เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดทางโครงการจะไม่มีค่าเดินทางให้ รร.ต่างจังหวัดหลายแห่งมีรถตู้ของรร.พาเด็กมาค่ะ

สำหรับกานต์ การสอบครั้งแรกนี้ ได้รางวัลเหรียญทองแดงค่ะ มีเพื่อนชั้น ป.2 ได้เหรียญอีก 2 คน

จัดกระเป๋าไปค่ายกัน

สสวท.จัดค่ายเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้แก่เด็กที่ผ่านรอบ 2 ทุกคนฟรีนะคะ เป็นค่าย 3 วัน 2 คืน โดยค่ายจะเลขกับวิทย์แยกกลุ่มกันนะคะ เข้าไม่พร้อมกันใครได้รางวัล 2 รายการก็ไป 2 ค่ายเลย ห้องนอนมีแอร์ อาหารการกินสมบูรณ์มากค่ะคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วง  เด็กบางคนอาจจะไม่เคยไปค้างคืนนอกบ้านลำพัง ค่ายสสวท.นี่เป็นครั้งแรก  พี่เลี้ยงเยอะค่ะ มีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งวันไม่มีเวลาเหงาแน่นอน

เด็กเล็ก ป.1-3 เข้าค่ายที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลอง 5 (ตึกลูกเต๋า) เมื่อไปถึงค่ายมีการจัดเด็กเข้ากลุ่ม ตรวจสอบจากบอร์ดว่าเราอยู่กลุ่มไหน ก็ไปลงทะเบียนตามกลุ่มของตนเองแล้ว ผู้ปกครองจะได้พบกับ พี่เลี้ยงที่ดูแลกลุ่มของลูกด้วย เราจะได้ชื่อ-เบอร์โทรศัพท์ของพี่เลี้ยง หากมีปัญหาเราโทรหาพี่เลี้ยงได้ค่ะ ในค่ายจะเป็นที่นอนรวมห้องละหลายคน ของ อพวช. เป็นเตียง 2 ชั้นเรียงกันเหมือนทหารค่ะ ลูกชอบมาก^^ คือปิดไฟแล้วยังคุยเล่นกันกว่าจะยอมนอน ห้องน้ำเป็นแบบห้องน้ำรวมข้างนอก

ค่าย ป.6 จะจัดที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อยู่ใน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ถ้าเข้าประตูฝั่งถนนพหลโยธิน ให้ใช้ประตูสุดท้ายข้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จะสะดวกค่ะ สังเกตป้ายบอกว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” เข้าประตูไปประมาณ 300 เมตร อยู่ทางขวาค่ะ ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรที่พักหรูมาก เด็กๆนอนห้องละ 4 คน แยกคนละเตียงมีห้องน้ำในตัวค่ะ
กลับจากค่ายทั้ง 2 แห่ง เด็กๆจะมีของติดมือไปด้วย นอกจากใบประกาศนียบัตรผ่านค่ายแล้วก็อาจจะเป็นหนังสือ, นิตยสารเสริมวิทยาศาสตร์ค่ะ

ข้อดีของการได้ใบประกาศนียบัตร/เหรียญรางวัล สสวท.

ผู้ได้เหรียญรางวัลทอง เงิน ทองแดง (100 คน)
• นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสเข้าค่ายสำหรับนักเรียน ของ สสวท. ฟรี! จัดที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร หรือ อพวช. คลอง5 แล้วแต่ประกาศ เป็นค่ายค้างคืน 3 วัน 2 คืน
• ได้รับโอกาสในการสมัครเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ของ สวทช. ฟรี! จัดที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร หรือออกต่างจังหวัด เป็นค่ายค้างคืน 4 วัน 3 คืน (เฉพาะนักเรียนที่อยู่ชั้น ป.6 รับจำนวนประมาณ 40-50 คน ไม่เรียงลำดับคะแนน วิธีสมัคร จะแนะนำไว้ในกระทู้หน้าค่ะ)
• ใบประกาศนียบัตรเหรียญสามารถใช้อ้างอิงในการสมัครเข้าเรียนต่อบางโรงเรียนได้ เช่น รางวัลเหรียญทอง สสวท. ป.6 ทั้งสายเลขและวิทย์ สามารถใช้ยื่นสมัครเข้าเรียนสาธิตฯปทุมวันได้
• รางวัลเหรียญทอง สสวท. ป.6 ทั้งสายเลขและวิทย์ สามารถใช้สิทธิ์ผ่านรอบแรก ijso (International Junior Science Olympaid) ของมูลนิธิ สอวน. ได้ไปรอสอบรอบ 2 ได้เลย
• รางวัลเหรียญทอง เงิน ทองแดง ป.6 ได้รับเชิญเข้าสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Junior Science Talent Project (JSTP) ม.ต้น ของ สวทช. ซึ่งดีมากๆ เพราะเราสามารถผ่านรอบใบสมัครไปได้เลย ขอบอกว่าใบสมัคร JSTP หินสุดๆ (อ่านเรื่องโครงการ JSTP ได้ที่กระทู้ JSTP คืออะไร?)
• รางวัลเหรียญทอง เงิน ทองแดง ป.3-6 สามารถใช้สิทธิ์ผ่านรอบแรก ไปแข่งในสาย 2 การแข่งขันวิชาการนานาชาติ สพฐ. ตามสาขาวิชาที่ได้รางวัล ( ป.6 นำไปใช้อ้างอิงสอบสาย2 ระดับ ม.1 ได้)

ผู้ได้รับใบประกาศนียบัตร ผ่านการคัดเลือกรอบแรก (1,000 คน)
• ได้รับโอกาสสมัครเข้าชมงานวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเด็ก
• ได้รับสื่อการเรียน หรือหนังสือ ส่งมาให้ถึงบ้านปีละ 1 ครั้ง
• หากต้องการสอบเข้าโรงเรียนจุฬาภรณ์ (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) ต้องผ่านการสอบ สสวท. รอบแรกทั้งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

เหรียญรางวัลทางวิทยาศาสตร์ ที่กานต์ได้รับ
• ป.2 เหรียญทองแดง สสวท.
• ป.3 เหรียญทอง สสวท.
• ป.4 ผ่านโครงการรอบแรก / ประกาศนียบัตรรางวัลชมเชยวิทยาศาสตร์ เพชรยอดมงกุฎ
• ป.5 ผ่านโครงการรอบแรก
• ป.6 เหรียญเงิน สสวท. / เหรียญทองแดงวิทยาศาสตร์ เพชรยอดมงกุฎ