พูดอย่างไรให้วัยรุ่นเข้าใจ
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยน แปลงอย่างมากมาย ทางอารมณ์ ความคิด และการแสดงออก ทั้งคำพูดและการกระทำ โดยวัยรุ่นเริ่มมีเหตุผลของตนเอง กล้าแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง หรือโต้แย้งพ่อแม่ แล้วแสดงคำพูดห้วนๆ
ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมีความรู้สึกว่าเด็กบางคน จากที่เคยว่านอนสอนง่าย กลับเปลี่ยนเป็นวัยรุ่นดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง แสดงออกทางสังคมไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันวัยรุ่นก็มีความรู้สึกว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับฟังเหตุผลหรือความคิดเห็นของเขา จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าหากปล่อยให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันเป็นระยะเวลายาวนาน ก็จะส่งผลต่อสัมพันธภาพ ระหว่างวัยรุ่นกับพ่อแม่ ทำให้เสียสัมพันธภาพต่อกันและบรรยากาศในบ้านไม่มีความสุข ดังนั้น เมื่อพัฒนาการของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลง ทั้งอารมณ์ ความคิดและการแสดงออก พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ควรจะพูดคุยกับวัยรุ่นให้เหมาะสมกับวัยของเขา การพูดคุยกับวัยรุ่นที่เหมาะสมจะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน และทำให้บรรยากาศบ้านมีความสุขซึ่ง เป็นเกราะป้องกันที่จะช่วยไม่ให้วัยรุ่นไปมีพฤติกรรมเสี่ยงนอกบ้าน
การพูดคุยกับลูกวัยรุ่นที่ดีนั้น พ่อแม่จะต้องรู้จักเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี โดยฟังวัยรุ่นด้วยอารมณ์ความรู้สึกสงบ ให้ความสนใจ ไม่ออกนอกเรื่อง ฟังวัยรุ่นพูดจนกว่าเขาจะพูดจบ ไม่รีบแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย แต่ควรรับฟังและทำความเข้าใจในความรู้สึกและเรื่องที่เขากำลังพูด ควรพูดคุยด้วยการใช้คำพูดที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่พูดเยิ่นเย้อยืดยาว เพราะจะทำให้เขารู้สึกรำคาญและไม่ควรพูดซ้ำซาก เนื่องจากวัยรุ่นจะรู้สึกเบื่อและคิดว่าพ่อแม่บ่น ไม่พูดด้วยการออกคำสั่ง บังคับ ว่ากล่าว ตำหนิ โดยเฉพาะตำหนิต่อหน้าผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เขาโกรธและรู้สึกอับอาย อีกทั้งจะทำให้เขารู้สึกไม่ดีต่อตนเอง ทำให้เขารู้สึกมีปมด้อย แต่ควรพูดชมหรือพูดแบบให้กำลังใจอย่างจริงใจ และใช้คำพูดที่ทำให้เด็กรู้สึกดีต่อตนเอง ซึ่งจะทำให้เด็กมั่นใจในตนเอง และเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดีแก่เด็กที่จะเผชิญปัญหาสังคม ดังนั้น พ่อแม่จึงควรรู้จักปรับวิธีการพูดคุยกับวัยรุ่นให้เหมาะสมกับเขา เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างพ่อแม่และวัย รุ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองแก่วัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นภูมิใจตนเอง เป็นวัยรุ่นที่เข้มแข็งสามารถอยู่ในสังคมได้ ถึงแม้จะต้องเผชิญปัญหาในชีวิตก็สามารถปรับตัวใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
โดย : จุฬาลักษณ์ รุ่มวิริยะพงษ์ นักจิตวิทยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ขอขอบคุณ : http://www.icamtalk.com