ดูแลเด็กก้าวร้าวอย่างไรดี

ดูแลเด็กก้าวร้าวอย่างไรดี
วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เด็กๆ จะเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวก่อน โดยเฉพาะครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมแรกของชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมทุกพฤติกรรม

ตั้งแต่ความนุ่มนวลอ่อนโยนจนถึงความก้าวร้าว ในปัจจุบันนี้มีเด็กๆ เป็นจำนวนมากที่หลายคนมองว่าเขาเป็นเด็กก้าวร้าว เพราะเห็นภาพเด็กแสดงความรู้สึกที่รุนแรงเมื่อไม่ได้ดังใจ เด็กที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จะแสดงพฤติกรรมที่ขาดการยับยั้ง ไม่รู้ถึงผลที่ตามมา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุเช่น ขาดแบบอย่างที่ดีให้ทำตาม ไม่ได้รับการช่วยเหลือชี้แนะแนวทางการแสดงออกที่เหมาะสม มีความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือสมอง ซึ่งการดูแลช่วยเหลือเด็กก้าวร้าวนั้นสามารถทำได้ดังนี้

1. วางแผนการช่วยเหลือเด็กแต่ละคนให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก

2. ตรวจสอบดูว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวจริงหรือไม่ เด็กบางคนที่บ้านของเด็กหยาบคาย ก้าวร้าวเป็น
กิจวัตร ภาพปกติของเด็กคนนั้นจึงหยาบคายก้าวร้าว

3. ผู้ดูแลพูดบอก สอนให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เสนอทางเลือกให้เด็ก เช่น “หนูต้องขอ
ก่อนแล้วรออีกหน่อยนะ” “ตีไม่ได้ ยืนนิ่งๆก่อน” “ของนี้มีไว้เล่นแบบนี้ ขว้างไม่ได้” “ถ้าหนู
เล่นโดยไม่ตีเพื่อน เพื่อนจะเล่นกับหนู แล้วจะสนุกมากด้วย”

4.ใช้เครื่องตั้งเวลาในการกำหนดเวลาเล่นของเล่นซึ่งเป็นเวลาที่ได้ตกลงกันตั้งแต่ก่อนเล่นของเล่น
เสียเครื่องตั้งเวลาจะเป็นสัญญาณการยุติการเล่น

5. ให้เด็กได้มีโอกาสเลือกของเล่นด้วยตนเองก่อนที่ผู้ดูแลจะเสนอของเล่นแก่เด็ก

6. หากเด็กยังแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างต่อเนื่อง ให้ใช้เทคนิคการใช้เวลานอก เช่น เก็บของเล่นที่
เด็กกำลังเล่นชั่วคราว ให้เด็กออกจากการเล่นชั่วระยะเวลาหนึ่งเมื่อสงบแล้วกลับมาเล่นต่อได้

7. เด็กที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยการทุบตีหรือต่อยรุนแรง ให้ใช้หมอนพิเศษให้ต่อย เล่นของเล่น
ที่ต้องใช้แรง เช่น การแบ่งแป้งโดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ขว้างแป้งไปติดกัน โยนบอลใส่ผนัง

8. ผู้ดูแลหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยคำพูดที่ปกติ ลูบหลังเบาๆ เพื่อผ่อนคลายในกรณีที่เด็กยอมให้
สัมผัสได้ อธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมจึงทำไม่ได้ และเด็กควรทำอย่างไรเพื่อให้ความโกรธลดลง
บอกให้เด็กรู้ว่าทำอะไรได้บ้างเมื่อรู้สึกโกรธ และอะไรบ้างที่ทำไม่ได้เลย

9. อยู่กับเด็กจนเด็กสงบ และบอกให้รู้ว่าพฤติกรรมดีขณะนี้ของเด็กคืออะไร ที่เด็กสงบลงเพราะเด็ก
ควบคุมตัวเองได้

10. ใช้สิ่งที่เด็กเคยทำเป็นประจำทางเลือกในหารช่วยเหลือดูแลเด็กก่อนที่เด็กจะแสดงความก้าวร้าว
เช่น “หนูจะเตะบอลหรือขี่จักรยาน” เมื่อเด็กเลือกการเล่นแล้วให้เด็กได้มีส่วนในการเตรียม
สิ่งของเพื่อการเล่นตามความพร้อมขณะนั้นของเด็ก

11.พูดบอกให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าถ้ามีการทำร้ายกันบรรยากาศในห้องนี้จะเป็นอย่างไร เด็กจะ
ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

12.ช่วยเด็กซ่อมแซมของเล่นที่เสียหายเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

13.ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้แนวทางการช่วยเหลือเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว

14.มีกิจกรรมใหม่ๆ มาให้เด็กได้ปฏิบัติ เด็กมีส่วนร่วมคิดรับรู้และเตรียมกิจกรรม

15.บันทึกรูปแบบการแสดงความก้าวร้าวของเด็ก

16.ให้ชุมชนมีส่วนรับรู้สนับสนุนพฤติกรรมดี และป้องกันแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก

17.กำหนดเวลาในการช่วยเหลือเด็กแก่ผู้ร่วมทีม เช่นเราจะช่วยเหลือเด็กคนนี้ 3 สัปดาห์เพื่อช่วย
ไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่าย

ในการดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องหาสาเหตุของความก้าวร้าวให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การดูแลครอบคลุมมากขึ้น ผู้ดูแลสื่อสารกับเด็กอย่างชัดเจนให้เข้าใจตรงกันว่าทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ เด็กจะต้องทำอย่างเมื่อโกรธ ผู้ดูแลจะช่วยเหลือเด็กอย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เด็กรับรู้ว่ากำลังได้รับการช่วยเหลือให้ผ่านพ้นภาวะที่กดดัน นี้ไปอย่างไม่โดดเดี่ยวรวมทั้งยังได้รับบทเรียนที่มีประโยชน์ มีประสบการณ์ชีวิตในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเมื่อเติบโตเป็น ผู้ใหญ่

โดย : พิสมัย พงศาธิรัตน์ : พยาบาลวิชาชีพ 8 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

 

ขอขอบคุณ : http://www.icamtalk.com