ภัยที่มองไม่เห็นจากลูกโป่ง
หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคแห่งสหรัฐ (US Consumer Product Safety Commission - CPSC) เตือนบรรดา คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายให้ตระหนักถึงอันตรายที่คาดไม่ถึงจากลูกโป่ง สีสวยๆ ที่มีต่อเด็กๆ โดยสามารถอุดทางเดินหายใจหากไม่ระมัดระวัง
ตั้งแต่ ปี 1973 เป็นต้นมามีเด็กๆ กว่า 110 คนที่เสียชีวิตเพราะลูกโป่ง หรือเศษลูกโป่งเข้าไปขวางกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออก ทั้งนี้มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
โอกาสเป็นไปได้ 2 ทางคือ ขณะที่เด็กกำลังเป่าลูกโป่งแล้วลูกโป่งเกิด ลื่นพลัดเข้าไปในลำคอ อีกทางหนึ่งคือ นำเศษลูกโป่งที่แตกมาอม หรือกัดเล่น แล้วลื่นเข้าไปในลำคอเช่นกัน จนอุดทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด
เมื่อลูกโป่งแตกแล้วไม่ได้นำไปทิ้งทันที เด็กๆ จะเล่นเศษลูกโป่งต่อไป โดยเคี้ยวเศษลูกโป่งเล่น, อม, เป่าจนถึงพยายามยืดเศษลูกโป่งให้ตึง แล้วนำมาขึงพาดปากตัวเองแล้วเป่าเพื่อทำให้เกิดเสียง สารพัดวิธีเท่าที่เด็กๆ จะนึกออก เศษลูกโป่งเหล่านี้มีโอกาสพลัดเข้าไปในลำคอได้ง่าย มาก และอาจม้วนเข้าไปพันลูกกระเดือกและปอดได้
นอกนั้นยังมีอันตรายจากแรงระเบิดของลูกโป่งที่สามารถทำให้ตาบอด ได้อีกด้วย หากระเบิดด้านหน้านัยน์ตา จะทำให้เยื่อบุแก้วตาถลอก ซึ่งต้องรีบทำการรักษา มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อและแผลเป็นขึ้นได้ หรืออาจมีอาการเลือดออกที่ส่วนหลังของแก้วตา(Hyphema) ซึ่งจะทำ ให้มีปัญหาภายหลังคือเป็นโรคต้อหิน อาการที่เบากว่านั้นก็คือ ทำให้นัยน์ตาและใบหน้าเกิดรอยช้ำขึ้นได้
นอกจากนี้ลูกโป่งยังเป็นทางผ่านที่ดีของเชื้อโรคและโรคติดเชื้อต่างๆ จึงไม่ควรเป่าลูกโป่งต่อจากคนอื่น เพราะน้ำลายของผู้อื่นจะทำให้เกิด การติดเชื้อได้ เช่น ไข้ตัวร้อน, หวัด หรือ Hepatitis A หรือเริม
ข้อควรระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากลูกโป่งที่มีต่อเด็กๆ
• ขณะที่เป่าลูกโป่ง ควรเป่าโดยกางนิ้วที่เหลือออกบังหน้าและนัยน์ตาไว้
• เมื่อใช้ลูกโป่งประดับงาน ผู้ใหญ่ควรแขวนหรือผูกลูกโป่งในที่สูงพ้นมือเด็กๆ
• จับตามองเด็กๆ ขณะถือลูกโป่งวิ่งไปมา ไม่ให้เด็กๆ นำลูกโป่งไว้ใกล้ใบหน้า หรือไม่นำลูกโป่งใส่ปากเคี้ยวเล่น ถ้าลูกโป่งยังไม่ได้เป่า
• ควรเก็บเศษเล็กเศษน้อยของลูกโป่งทิ้งถังขยะทันที หลังจากลูกโป่งแตก อย่าปล่อยให้เด็กๆ เล่นเศษลูกโป่งต่อไปโดยไม่ห้ามปราม
ลูกโป่งเป็นสิ่งประดับประดาช่วยสร้างบรรยากาศงานเลี้ยงต่างๆ ให้มีชีวิตชีวา และสวยงาม แต่ถ้าคุณเพิ่มความระมัดระวังขึ้นอีกสักนิดทุกคนก็จะปลอดภัย และมีสุขภาพดีค่ะ
- บทความวิชาการ และทั่วไป
- สุขภาพ & จิตวิทยาเด็ก
- เข้าชม (ครั้ง): 926