ใช้คอมพ์มากเกินไป ทำให้เด็กพิการได้
ผู้จัดการรายวัน - แพทย์ชี้การใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป ส่งผลเสียต่อพัฒนาการเด็ก โดยทางร่างกายก่ออให้เกิดอาการบอบช้ำจนถึงขั้นพิการได้ เพราะกระดูกและกล้ามเนื้อไม่ได้พัฒนาเต็มที่ ส่วนทางด้านจิตใจก่อให้เกิดความก้าวร้าว และขาดทักษะทางสังคมเพราะจมอยู่ในโลกของตัวเองมากเกินจนไม่สนใจผู้อื่น ซึ่งผลเสียเหล่านี้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับเด็กที่ติดทีวี
มีรายงานข่าวจากประเทศอังกฤษว่า มีเด็กจำนวนมากบอบช้ำกับปัญหาสุขภาพคือ มีอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง เพราะขลุกอยู่กับคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการบ้าน หรือเล่นเกมนานมากเกินไป และเนื่องจากกระดูก และกล้ามเนื้อของเด็กยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้หากมีพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมนี้ไปนานๆ อาจส่งผลเสียให้มีเด็กพิการเพิ่มขึ้นหลายคน
จากกรณีดังกล่าวนี้ น.พ. ปราโมทย์ สุขชนิตย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาของการใช้คอมพิวเตอร์มากๆ ต่อเด็กนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เป็นหลัก โดยหากเด็กใช้เวลาจ่อมอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ แน่นอนว่า ก่อให้เกิดผลเสียต่อสายตา และกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไม่ได้ออกกำลังกายนานๆ
"เด็กกำลังโต ควรได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อร่างกายด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์มากๆ เด็กจะได้ใช้แค่มือขวา อาจจะคลิกเก่ง คลิกแม่น แต่ด้านอื่นๆ ไม่ได้พัฒนาตามเลย ไม่แค่เด็กเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็เหมือนกันที่ กระดูกและกล้ามเนื้อไม่ยืดหยุ่นเท่าเด็กกๆ การนั่งอยู่กับที่นานๆ ก็จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยง่าย"
อย่างไรก็ดี น.พ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ผลร้ายที่ชัดเจนที่สุด คือการก่อปัญหาพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก เนื่องเพราะว่าการอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์มากๆ ทำให้ลดเวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ลง ทำให้ขาดทักษะทางสังคม เด็กจะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยากขึ้น ขาดทักษะในการต่อรอง และมักไม่ค่อยฟังเหตุผลของคนอื่น
"เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ คือโลกของเขาเพียงคนเดียว คือที่ที่เขาไม่ต้องสนใจสมาชิกในครอบครัว เขาอยากทำอะไรก็ได้ เด็กติดคอมพิวเตอร์เพราะความสนุกสนาน แต่คอมพิวเตอร์ไม่มีความซาบซึ้ง ไม่มีเรื่องของจิตใจ เพราะฉะนั้น จึงมีผลวิจัยออกมาว่าคอมพิวเตอร์ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้น"
เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ น.พ.ปราโมทย์กล่าวว่า การปล่อยให้เด็กใช้เวลาดูทีวีมากเกินไป ก็เป็นผลเสียเช่นกัน เพราะเรื่องราวหลากหลายที่เด็กได้ดูผ่านทีวี จะก่อให้เกิดจินตนาการ และการเลียนแบบได้ง่าย ซึ่งจะเป็นปัญหา เพราะเด็กไม่อาจแยกแยะสิ่งที่ถูก หรือผิดได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 6 - 7 ขวบ ที่ไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการออกจากกันได้
ทางด้าน น.พ. สุนทร ฮ้อเผ่าพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม ศูนย์สุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า การดูโทรทัศน์ และเล่นวิดีโอเกมส์มากเกินไป ทำให้เด็กมีเวลานอนน้อยลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจ และสภาวะอารมณ์
"ธรรมชาติของเด็ก คือจะต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้น ร่างกายจะไม่อยู่ในสภาพที่สมดุล ส่งผลให้เด็กเกิดความก้าวร้าว รวมถึงทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เช่น อากาศเปลี่ยนก็จะทำให้เป็นหวัดได้ง่าย เพราะร่างกายเปราะบางตลอดเวลา"
น.พ.สุนทร ยังได้ให้คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองว่า แทนที่จะพาเด็กไปช็อปปิ้ง ดูทีวี เล่นวิดีโอเกม ก็ควรหันไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติมากขึ้น และปล่อยให้เด็กได้เล่นออกกำลังกับเพื่อนๆ บ้าง เพื่อให้เหงื่อออก และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับเด็กในวัยเดียวกันด้วย
"สิ่งที่ควรทำอีกอย่างก็คือ ควบคุมการดูทีวีไม่ให้เกิน 45 นาที ต่อวัน และควรนั่งดูอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด อย่างในประเทศจีนนี่เขาบังคับเลยเรื่องดูทีวีของเด็ก เพราะเชื่อว่า ทำให้เด็กสายตาสั้น และมีนิสัยก้าวร้าว แต่ของบ้านเราทำนั้น ลำบาก" น.พ.สุนทรกล่าว
ที่มาของข่าว: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
- บทความวิชาการ และทั่วไป
- สุขภาพ & จิตวิทยาเด็ก
- เข้าชม (ครั้ง): 871