สเปส หรือ มิติ (Space) ของวัตถุใด ๆ หมายถึง ที่ว่างที่วัตถุนั้นครองที่ ซึ่งจะมีรูปร่างเหมือนวัตถุนั้น เช่น สเปสของแผ่นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็คือ เนื้อที่ซึ่งกระดาษแผ่นนี้ทับอยู่ ซึ่งจะมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเท่ากับแผ่นที่ทับอยู่ สเปสอาจมี 2 มิติ คือ กว้างและยาว หรืออาจมี 3 มิติ คือ กว้าง ยาว และสูง ก็ได้
การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปสสำหรับเด็กปฐมวัย อาจได้แก่ การรู้จักเรียนรู้ 1 มิติ 2 มิติ 3 มิติ การเขียนภาพ 2 มิติ แทนรูป 3 มิติ การบอกทิศทาง การบอกเงาที่เกิดจากภาพ 3 มิติ การเห็นและเข้าใจภาพที่เกิดบนกระจกเงา การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับเวลาสำหรับเด็กปฐมวัย อาจได้แก่ การหาความสัมพันธ์ของวัตถุกับเวลาที่ใช้ไป เช่น การข้ามถนน การกะระยะมิติของรถที่กำลังแล่นมากับมิติ หรือสเปสของตัวเองที่จะข้ามถนน การเจริญเติบโตของถั่วงอกกับเวลาที่ใช้ไป เป็นต้น
ทักษะในการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส คือ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่อไปนี้ได้
1. ชี้บ่งภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ เช่น เมื่อนำภาพหรือวัตถุรูปร่างต่าง ๆ แผ่นกระดาษสี่เหลี่ยม แผ่นกลม แผ่นสามเหลี่ยม ลูกแก้ว ลูกเต๋า กล่องชอล์ก เหล่านี้เป็นต้น นักเรียนสามารถชี้บ่งได้ว่า สิ่งใดมี 2 มิติ และสิ่งใดมี 3 มิติ
2. บอกความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางของวัตถุหรือสถานที่ต่าง ๆ เช่น เมื่อนักเรียนดูแผนผังของสวนสัตว์ดุสิตแล้ว นักเรียนสามารถบอกได้ว่า ถ้าเรายืนอยู่ตรงประตูด้านทิศตะวันตกของสวนสัตว์ และต้องการจะไปดูยีราฟจะต้องเดินทางไปทางซ้ายหรือทางขวาของตำแหน่งที่ยืน อยู่
3. บอกตำแหน่งหรือทิศทางของวัตถุหรือสถานที่ต่าง ๆ เช่น เมื่อนักเรียนดูแผนผังของสวนสัตว์ดุสิต ตรงทางเข้าประตูสวนสัตว์ด้านหนึ่ง นักเรียนสามารถบอกได้ว่า ขณะนี้นักเรียนยืนอยู่ตำแหน่งใดในแผนผังนั้น
4. บอกตำแหน่งซ้ายหรือขวาของภาพที่เกิดจากการวางวัตถุไว้หน้ากระจกเงา เช่น ถ้านักเรียนผูกผ้ากับข้อมือข้างขวาไว้ แล้วไปยืนหน้ากระจกเงา นักเรียนสามารถบอกได้ว่าภาพของนักเรียนในกระจกเงานั้นมีผ้าผูกข้อมือข้างใด ไว้ เป็นต้น
ทักษะในการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับเวลา คือ ความสามารถในการบอกความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางกับเวลาที่วัตถุนั้นเคลื่อน ที่ และการบอกความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงขนาดหรือปริมาณของสารกับเวลา
ตัวอย่างการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา
การสังเกตเงา
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เด็กสามารถบอกชื่อวัตถุจากการสังเกตเงา และเปรียบเทียบเงาที่ได้เห็นกับวัตถุของจริงได้
วัสดุอุปกรณ์
1. ฉาก (อาจจะใช้กระดาษขาว กล่องกระดาษหรือผ้า)
2. วัตถุหลาย ๆ ประเภทนี้มองเห็นได้ชัดเจน แลมีรูปร่างที่เด่นชัดเมื่อเด็กมองเห็น สามารถจะตอบได้ว่าเป็นอะไร เช่น ขวด แก้ว ช้อน ส้อม รูปดาว ดอกไม้ เป็นต้น วัสดุนี้อาจจะใช้ของจริงหรือของจำลองก็ได้
3. รูปภาพ หรือภาพร่าง ของวัตถุต่าง ๆ ที่นำมาใช้ทุกชนิด
กิจกรรม
1. จัดตั้งฉาก อาจจะเอาออกไปจัดทำกลางแจ้งเพื่อให้แสงแดดส่องวัตถุทำให้เกิดเงาบนฉาก หรืออาจจะทำในห้องโดยใช้แสงไฟ ฉายไปที่วัตถุก็ได้
2. ถือวัตถุไว้หลังฉากโดยทำเป็นมุมปกติ และถือวัตถุตามแนวตั้งให้เด็กที่นั่งข้าง หน้าฉากตอบว่าเป็นวัตถุอะไร และทำไมเขาคิดว่าเป็นวัตถุประเภทนั้น
3. ให้เด็กจับคู่รูปภาพของวัตถุให้สอดคล้องกับเงาที่เขาได้สังเกตไว้ ครูควรจะปิดรูปภาพไว้ก่อน หลังจากดูเงาที่ฉากแล้วจึงเปิดรูปภาพให้เด็กดูและให้เขาเลือกจับคู่ มิฉะนั้นแล้วเด็กจะสนใจกับรูปภาพโดยไม่ได้ตั้งใจดูเงาที่ฉาก
4. ถามเด็กว่าเขาใช้ประสาทส่วนใดในการสังเกต
ข้อเสนอแนะ
1. ควรให้เด็กได้เล่นกับเงาที่ฉาก และให้เด็กแต่ละคนได้เป็นผู้ทำกิจกรรมนี้โดยผลัดกันออกมาถือวัตถุไว้หลังฉาก
2. วัสดุที่นำมาให้เด็กเล่นควรมีความหลากหลายเด็กจะได้ไม่เบื่อ
3. เมื่อเด็กคุ้นเคยกับกิจกรรมที่ใช้วัตถุแล้ว อาจให้เด็กใช้มือแสดงเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ และให้เพื่อนทายว่าเป็นสัตว์ประเภทใด ซึ่งกิจกรรมนี้ครูจะต้องฝึกเด็กดูก่อน